วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ Sir William Wallace

ก่อนอ่านเพื่อสร้างบรรยากาศเปิดเพลงจากภาพยนตร์ braveheart ไว้แล้วฟังไปพร้อมกับอ่าน

William_Wallace1


เรื่องราวของวีรบุรุษมักเป็นที่กล่าวขานและจดจำผ่านกาลเวลา ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใด ทว่าชะตากรรมของวีรบุรุษส่วนใหญ่ มักลงเอยอย่างน่าเศร้า จนกล่าวกันว่า หลายครั้ง ที่วีรบุรุษต้องใช้เลือดและชีวิตของตนชำระล้างความทุกข์ทนให้ปวงประชา ดังเช่นเรื่องราวของ วิลเลียม วอลเลซ วีรบุรุษแห่งสก๊อตแลนด์ ผู้นี้
แต่เดิมเกาะบริเตนใหญ่ถูกแยกเป็นราชอาณาจักรอิสระสามอาณาจักรคือ อังกฤษ สก๊อตแลนด์ และเวลส์ ในรัชสมัยของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่หนึ่ง อังกฤษประสบความสำเร็จในการผนวกรวมแคว้นเวลส์เข้าในอำนาจ และจากนั้นอังกฤษก็มุ่งเป้าหมายต่อมายังสก๊อตแลนด์
วิลเลียม วอลเลซ ถือกำเนิดที่หมู่บ้านเอลเดอร์สลี ในเรนฟริวไชร์ ทางภาคตะวันตกของสก๊อตแลนด์  โดยเป็นสมาชิกในตระกูลวอลเลซ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางศักดินาของในรัชสมัยของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์แห่งสก๊อตแลนด์ซึ่งปกครองราชอาณาจักรด้วยความสงบสุข จนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1286 กษัตริย์อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์หลังตกม้า โดยมีเพียงพระนัดดาคือ เจ้าหญิงมากาเร็ตแห่งนอร์เวย์ ที่เป็นรัชทายาท
edward1พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งแห่งอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งแห่งอังกฤษทรงอาศัยความอ่อนแอทางการเมืองของสก็อตแลนด์ จัดการให้พระโอรสของพระองค์หมั้นกับเจ้าหญิงมากาเร็ต ทว่าหลังการหมั้น พระนางได้ล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ.1290 อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีอิทธิพลในสก็อตแลนด์ของอังกฤษ
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงมากาเร็ตก่อให้เกิดสุญญากาศอำนาจ ทำให้ขุนนางตระกูลต่างๆอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง สภาขุนนางจึงเชิญพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาเป็นผู้อภิบาลสก็อตแลนด์ และจากนั้นเมื่อเหลือขุนนางผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์สก็อตเพียงสองคน คือ จอห์น บอลลอยด์ และ โรเบิร์ต บรูซ  ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1292 ศาลสูงศักดินาแห่งสก็อตแลนด์ก็ได้มีมติให้จอห์น บอลลอยด์ขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยโรเบิร์ต บรูซ ก็ยอมรับมตินี้
ทว่าแม้จะได้เป็นกษัตริย์แล้ว ทว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับเข้าแทรกแซงการบริหารประเทศในฐานะผู้อภิบาล จนเป็นเหตุให้ พระเจ้าจอห์น บอลลอยด์ ทรงยกเลิกคำมั่นที่จะยอมให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้อภิบาลสก็อตแลนด์ เมื่อเป็นดังนั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงอ้างเป็นเหตุยกทัพเข้าตีสก็อตแลนด์ในปี ค.ศ.1296 โดยฝ่ายสก็อตแลนด์ได้พ่ายแพ้ในสงคราม อังกฤษจึงบีบให้พระเจ้าจอห์น สละราชสมบัติ พร้อมทั้งบังคับขุนนางนายสก็อต 1,800 คนให้เข้าสวามิภักดิ์และได้กับนำเอา “หินลิขิตชะตา” (Stone of Destiny) ไปไว้ที่ลอนดอน
หลังได้รับชัยชนะ อังกฤษได้ดำเนินนโยบายกลืนชาติ โดยส่งขุนนางอังกฤษมาครอบครองที่ดินแดนในสก็อตแลนด์และให้สิทธิพิเศษแก่ขุนนางอังกฤษให้มีสิทธิ์เปิดบริสุทธิ์เจ้าสาวชาวสก็อตที่เช่าที่ดินขุนนางอังกฤษในคืนแรกของการแต่งงานทั้งยังกวาดล้างสังหารบรรดาผู้ที่ขัดขืนอย่างโหดเหี้ยม
williamwallace1
วิลเลียม วอลเลซได้เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษใน ปี ค.ศ.1297 หนึ่งปี หลังการยึดครองของอังกฤษ โดยเขาได้เข้าสังหาร วิลเลียม เดอ เฮเซริก ข้าหลวงแห่งลานาร์ค สันนิษฐานกันว่า มูลเหตุแห่งการต่อต้านอาจมาจากความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างเขากับทางการอังกฤษ หลังจากนั้น วอลเลซได้เข้าร่วมกับ วิลเลียม ฮาร์ดี ลอร์ดแห่งดักลาส โดยระดมพวกชาวที่ราบสูงในสก็อตแลนด์เข้าเป็นกองกำลังต่อต้านและออกโจมตีป้อมค่ายของอังกฤษ
ก่อนที่การกบฏจะลุกลามไปทั่วประเทศ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งทรงมีพระบัญชาให้เอิร์ลแห่งเซอเรย์และเซอร์ ฮิวจ์แห่งเครสซิงก์แฮม นำทัพมาปราบกบฏชาวสก็อต วิลเลียม วอลเลซและแอนดรูว์ มอเรย์ได้นำกองกำลังผู้รักชาติไปตั้งรับทัพอังกฤษที่สะพานสเตอร์ลิงโดยฝ่ายสก็อตมีกำลังทหารราบเพียงห้าพันและทหารม้าสามร้อยนาย ส่วนทัพอังกฤษมีทหาราบกว่าเจ็ดพันนายและทหารม้าสองพัน
วอลเลซนำกำลังไปสกัดทัพข้าศึกที่บริเวณสะพานโดยจัดเตรียมอาวุธพิเศษสำหรับรับมือกับกองทหารม้า นั่นคือแหลนยาวหกเมตร และในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1297 กองทัพทั้งสองฝ่ายก็เข้าปะทะกัน โดยฝ่ายอังกฤษยกพลข้ามสะพานบุกเข้าโจมตีก่อน ทว่าพลหอกยาวได้สกัดกองทหารม้าของอังกฤษไม่ให้บุกลงจากสะพานได้ ทำให้กองทหารอังกฤษแออัดอยู่บนสะพานนั้น ข้างฝ่ายเอิร์ลแห่งเซอเรย์ แม่ทัพอังกฤษได้สั่งให้ทหารทั้งหมดบุกข้ามไปให้ได้ จนทำให้สะพานไม่อาจทานน้ำหนักได้(บางตำราระบุว่า วอลเลซแอบส่งทหารไปถอดหมุดสะพานเอาไว้) ในที่สุดสะพานก็ถล่มลงมา ส่งผลให้ทหารอังกฤษนับพันร่วงลงน้ำ และเป็นโอกาสให้กองทัพสก็อตเข้าบดขยี้ โดยสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอังกฤษที่สูญเสียทหารไปกว่าหกพันนาย
StilingBridgการรบที่สะพานสเตอร์ลิง
หลังชัยชนะที่สะพานสเตอร์ลิง สภาขุนนางแต่งตั้งให้วอลเลซเป็นเซอร์ วิลเลียม วอลเลซ แม่ทัพใหญ่ผู้พิทักษ์แห่งสก็อตแลนด์ จากนั้นเซอร์วิลเลียมได้นำทัพบุกเข้าปลดปล่อยเมืองต่างๆจากการยึดครองของอังกฤษ และนำทัพเข้ายึดเมืองยอร์คซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอังกฤษได้สำเร็จ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงกริ้วมาก และในปีรุ่งขึ้น คือ ค.ศ. 1298 พระองค์ได้นำทัพใหญ่บุกสก็อตแลนด์ด้วยพระองค์เองในเดือนเมษายน โดยทัพอังกฤษประกอบด้วยทหารราบ 12,500 นายและทหารม้า 2,500 นาย และพระองค์ทรงจ้างพลธนูชาวเวลส์พร้อมธนูยาวซึ่งเป็นอาวุธยิงที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดในยุคนั้นมาเป็นจำนวนมากด้วย
วิลเลียมนำกองทัพยกไปตั้งรับทหารอังกฤษที่ฟอลเคิร์ก เนื่องจากความไม่ลงรอยกันในสภาขุนนาง ทำให้ฝ่ายสก็อตแลนด์ระดมไพร่พลได้เพียง 6,000 นาย ทั้งสองทัพเข้าปะทะกันในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1298 โดยฝ่ายสก็อตแลนด์พ่ายแพ้ยับเยิน
Falkirkสมรภูมิฟอลเคิร์ก
หลังการรบ ฝ่ายอังกฤษยกทัพเข้าย่ำยีสก็อตแลนด์และยึดพื้นที่กลับคืน ขณะที่ฝ่ายสก็อตใช้กลยุทธ์กองโจรซุ่มโจมตีและลอบสังหาร ซึ่งแม้จะทำให้ฝ่ายอังกฤษเสียขวัญกำลังใจ แต่ก็ยังไม่ลดละการตามล่าตัววอลเลซ จนสุดท้ายเขาต้องมอบอำนาจ “แม่ทัพใหญ่ผู้พิทักษ์แห่งสก็อตแลนด์” ให้แก่โรเบิร์ต บรูซ เอิร์ลแห่งคาร์ริก และ จอห์นโคมีนแห่งบาเดนอชซึ่งเป็นเขยของอดีตกษัตริย์จอห์น บอลลอยด์
วอลเลซได้เดินทางไปราชสำนักฝรั่งเศสกับวิลเลียม ครอว์ฟอร์ดเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าฟิลิปส์ เลอ เบล ในการต่อสู่เพื่ออิสรภาพของสก็อตแลนด์ อย่างไรก็ตาม การเจรจายังไม่เป็นผลใดๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1305 วิลเลียม วอลเลซได้รับการร้องขอจากสภาขุนนางสก็อตแลนด์ให้เดินทางกลับอังกฤษ
สายลับได้ข่าวของวอลเลซ และเตรียมจับกุม จนเมื่อในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1305 วอลเลซก็ถูกจับโดย จอห์น เดอเมนทิธ ขุนนางชาวสก็อตผู้ภักดีต่ออังกฤษ วอลเลซถูกส่งตัวไปลอนดอนเพื่อรับการไต่สวนความผิดฐานกบฎ ซึ่งวอลเลซได้กล่าวสู้คดีว่า “ข้าพเจ้ามิได้เป็นกบฏต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เพราะข้าพเจ้าไม่ได้เป็นข้าแผ่นดินของพระองค์ พระเจ้าจอห์น บาลลิออล คือกษัตริย์ของข้าพเจ้า”และยืนยันไม่ยอมรับสารภาพ
Wallaceexecution
ในวันที่ 23 สิงหาคม ปีเดียวกัน วอลเลซ ถูกเปลื้องผ้าในศาล ก่อนถูกม้าลากออกไปตามถนนในเมืองและถูกแขวนคอในลานเมืองสาธารณะที่ตลาดสมิทฟีลด์ (วิธีแขวนคอกบฏของอังกฤษโบราณ ใช้วิธีเปลื้องผ้าและเอาม้าลากไปแขวนคอไม่ให้ถึงตายจนถึงกลางตลาดแล้วจึงหั่นอวัยวะออกทีละชิ้นโดยเริ่มจากองคชาติแล้วเผาต่อหน้า เมื่อนักโทษตายจึงตัดคอและหั่นศพเป็น 4 ท่อนแล้วนำศีรษะไปดองไม่ให้เน่าเปื่อยก่อนนำไปเสียบประจาน)
ศีรษะของวิลเลียม วอลเลซถูกเสียบประจานที่สะพานลอนดอน ส่วนแขนขาถูกแยกนำไปเสียบประจานที่นิวคาสเซิล เบอร์วิก สเตอร์ลิงและที่แอเบอร์ดีน อย่างไรก็ตาม ความตายของวอลเลซได้จุดประกายความกล้าในหมู่ชาวสก็อตและนำไปสู่การลุกฮืออีกครั้ง
RobertBruceโรเบิร์ต เดอะ บรูซ
จนกระทั่งใน วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1314 โรเบิร์ต เดอะ บรูซ ได้นำทัพชาวสก็อตเข้ารบกับทัพอังกฤษที่แบนนอคเบิร์นและได้รับชัยชนะ ทำให้สก็อตแลนด์ได้เป็นเอกราช จากนั้นโรเบิร์ต บรูซได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์
bannockburnสงครามที่แบนนอคเบิร์น
แม้ วิลเลียม วอลเลซ จะเสียชีวิตอย่างอนาถ แต่ความตายของเขาก็ไม่สูญเปล่า เพราะสุดท้าย สิ่งที่เขาทำก็ประสบความสำเร็จ นั่นคือ คืนความเป็นอิสระให้กับเพื่อนร่วมชาติ


น้ำตาไหล ฉากในภาพยนตร์ตอนจบของ braveheart  โรเบิร์ต เดอะ บรูซ ยกทัพไปอังกฤษมอบตำแหน่งให้ 


ขอบคุณเครดิตบทความจาก http://www.komkid.com/new/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A1-%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%8B/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น