วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ราชอาณาจักรพม่า (ราชวงศ์คองบอง) ราชวงศ์ที่เข้มแข็งแต่อายุสั้น

พระบาทสมเด็จพระมหาโพธิสัตว์เจ้า หรือ พระเจ้าอลองพญา เดิมเป็นผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านมอกโชโบหรือหมู่บ้านคองบองหรือเมืองชเวโบในปัจจุบัน เสด็จพระราชสมภพเมื่อ 24 กันยายน 1714 ที่หมู่บ้านมอกโชโบของพระราชบิดา ภายหลังการขึ้นครองราชย์ของพระเจ้าธนินท์ตเวแห่งราชวงศ์ตองอู 12 วัน พระนามเดิมคือ อองไจยะ เป็นบุตรชายคนรองของมินเนียวซอกับซอเนียนอู พระปิตุลาของพระองค์ กะยอชวาสิน หรือ สิทธาเมงยี เป็นนายอำเภอของอำเภอมู ทรงสืบเชื้อสายจากนายทหารม้าแห่งอาณาจักรอังวะในช่วงคริสตศตวรรษที่ 15 ผู้ซึ่งเป็นพระอนุชาแห่งกษัตริย์อังวะ ซึ่งหมายถึงทรงเป็นเชื้อสายราชวงศ์พุกามด้วย
ปี 1730 ทรงอภิเษกสมรสกับหยุนซาน ธิดาของศรีบกตละ ผู้ใหญ่บ้านข้างๆ มีพระราชบุตร 6 พระองค์ พระราชธิดา 3 พระองค์ แต่พระราชบุตรองค์ที่ 4 ทรงสิ้นพระชนม์แต่เยาว์วัย
ลักษณะของพระองค์มีความเป็นผู้นำสูงมาก ตามคำอธิบายของชาวอังกฤษกล่าวไว้ว่า พระวรกายสูง 5 ฟุต 11 นิ้ว และมีพระฉวีที่เข้มจากการตากแดด
เวลาช่วงนั้นราชวงศ์ตองอูเข้าสู่ภาวะเสื่อมอย่างหนัก ทั้งภาวะที่เมืองเชียงใหม่แยกตัวออกมาในสมัยเจ้านก การที่ถูกมณีปุระรุกราน รวมถึงปัญหาภายในราชวงศ์ แต่ช่วงนั้น หมู่บ้านมอกโชโบมีความเข้มแข็งผิดปกติจน ตองอูราชา ผู้บัญชาการทหารสูงสุดต้องเข้ามาตรวจสอบว่าอาจจะมีภัยต่อราชวงศ์ตองอูหรือไม่ เมื่อไม่มีปัญหาอะไร ตองอูราชาจึงทูลเกล้าถวายยศแก่อองไจยาเป็นพระนันทาเกียว มีหน้าที่เป็นคยีเกง คือเก็บภาษีและดูแลรักษาหมู่บ้าน
หลังจากนั้น ทหารมอญซึ่งมีทหารยุโรปด้วยได้ตีเมืองเข้าไปจับกุมกษัตริย์ตองอูได้และมอญขอร้องให้เจ้าเมือง,นายอำเภอ,ผู้ใหญ่บ้านในอาณาจักรตองอูยอมสวามิภักดิ์แต่โดยดี แต่อองไจยะต้องการจะต่อต้านอำนาจมอญอย่างสุดกำลัง
อองไจยะชักชวนนายบ้านในแถบลุ่มน้ำมู 46 หมู่บ้าน เข้าร่วมสงครามและมีคนจำนวนมากเข้าร่วมสู้ด้วย คืนพระจันทร์เต็มดวง 29 กุมภาพันธ์ 1752 อองไจยะปราบดาภิเษกตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ใหม่ ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระมหาโพธิสัตว์เจ้า" (อลองพญา) หรือพระนามเต็มๆคือ "สิริภาวรา วิชัยนันทชาตะ มหาธรรมราชาธิราช อลุง มินธารคยี"
หลายๆคนไม่เชื่อว่าพระเจ้าอลองพญาจะสามารถขับไล่ทหารฝรั่งของชาวมอญไปได้ แม้แต่พระราชบิดายังส่งสาส์นบอกว่า ทหารที่มีอยู่ไม่มาก ปืนที่มีไม่กี่กระบอก เมื่อเทียบกับทหารฝรั่งในกรุงอังวะแล้ว ยากยิ่งที่จะทำลายป้อมปราการของอังวะได้ แต่พระเจ้าอลองพญาทรงตอบกลับไปว่า "เมื่อเราสู้เพื่ออาณาจักรของเรา ต่อให้มีทหารเพียงเล็กน้อย แต่มีใจจริงและแขนที่หนักแน่น ก็เพียงพอแล้ว" ทรงได้ทำการป้องกันหมู่บ้านโดยเริ่มจากการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านของพระองค์เป็นชเวโบ และขุดคูน้ำ หลุมและบ่อไว้ในป่านอกหมู่บ้าน รวมถึงสร้างกำแพงด้วย
ต่อมาพระองค์สามารถขับไล่ทหารมอญ ทหารเงี้ยว รวมถึงทหารยุโรปด้วย และทำการยึดเมืองหลายเมือง เช่น ย่างกุ้ง สิเรียม และล้อมเมืองพะโคนาน 14 เดือน จึงสามารถตีเมืองได้สำเร็จในวันที่ 6 พฤษภาคม 1757 ทหารพม่าได้ทำลายเมือง เผาเมือง เข่นฆ่าผู้คนจำนวนมาก ที่เหลืออยู่ก็ถูกจับเป็นทาส ส่วนกษัตริย์มอญ พระเจ้าพินนยา ดาลา หลบหนีได้ แต่ไม่นานก็ต้องออกมา ทรงได้รับการอภัยโทษจากพระเจ้าอลองพญา และช่วยทำงานให้กับทางรัฐมาส่วนหนึ่ง ก่อนที่ชาวมอญจะก่อกบฎ แล้วถูกพระเจ้ามังระทรงสั่งประหารชีวิตต่อหน้าประชาชนในเวลาต่อมา เนื่องจากถูกสงสัยว่าพระองค์จะทำการก่อกบฎ
หลังจากการทำลายอาณาจักรมอญ เมืองประเทศราชเช่น เชียงใหม่ ทวาย ยะไข่ ต่างยอมส่งเครื่องบรรณาการให้เพื่อแลกกับการที่ไม่ถูกรุกราน
ต่อมาพระองค์ส่งทหารไปที่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เพื่อทำการยึดเมืองคืนจากราชวงศ์ชิง และประสบความสำเร็จในการยึดเมืองคืนมาหลังจากนั้น ต่อมาพระองค์ได้ยึดแหลมเนกิสคืนจากอังกฤษในวันที่ 6 ตุลาคม 1759 หลังจากนั้น ทรงได้ยึดครองมณีปุระและทำสงครามกับอยุธยา แต่การบุกยึดอยุธยาไม่สำเร็จ เพราะตามประวัติศาสตร์พม่าระบุว่า พระองค์สวรรคตเพราะพระโรคบิด ขณะที่ประวัติศาสตร์ไทยระบุว่าพระองค์ทรงตรวจปืนใหญ่ แต่ปืนใหญ่เกิดระเบิดลั่นใส่พระองค์จนบาดเจ็บและสวรรคตในเวลาต่อมา แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามหลังจากนั้น ทหารพม่าได้ถอดกำลังออกจากอยุธยาในวันที่ 17 เมษายน 1760 มีเพียงแค่มินคลุงเนาวธา หรือ มังฆ้องนรธา ที่สามารถคุมกองพลจำนวน 6,000 นายกับทหารม้า 500 คน เป็นทัพหลัง แม้ว่ามีกองทัพอยุธยาเข้าโจมตี แต่ก็สามารถป้องกันได้ตลอดทางจนพ้นเขตอยุธยา
แม้ว่าพระองค์ไม่สามารถยึดอยุธยาได้ แต่พระองค์ก็ได้พื้นที่ทางตอนใต้ชายฝั่งอันดามันไปได้ แต่อยุธยาสามารถยึดคืนได้เพียงบางส่วน
สุสานของพระองค์ที่ชเวโบ





เจ้าฟ้าเมิงลอก พระราชโอรสองค์โตขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าเนียงดอคยี หรือ พระเจ้าเมิงลอก (มังลอก) โดยทรงแต่งตั้งเจ้าฟ้าเมิงวะ หรือ มังระ พระอนุชา เป็นพระมหาอุปราชา แต่ตลอดรัชสมัย ทรงต้องพบกับการก่อกบฏของประเทศราช,แม่ทัพ หรือแม้กระทั่งพระอนุชาของพระองค์เอง แต่ทรงให้อภัยพระอนุชาเนื่องจากเกรงว่าหากทำอะไรพระอนุชา อาจจะเกิดการนองเลือดขึ้นได้
มินคลุงเนาวธา แม่ทัพสนิทของพระชนกนาถได้ก่อกบฏและสามารถยึดเมืองอังวะได้ 5 เดือน ก่อนที่เดือนธันวาคม เขาจะหนีและถูกยิงเสียชีวิตระหว่างหนีออกจากเมือง พระเจ้าเนียงดอคยีทรงเสียพระทัยมาก และตรัสว่า "มันดีแล้วใช่มั้ยที่พวกเจ้ายิงชายผู้ยิ่งใหญ่เช่นนี้"
ต่อมา ธะโด เทียนคธู พระปิตุลาของพระองค์ได้ก่อกบฏและล้อมเมืองจนมกราคม 1762 พระองค์ให้อภัยกับพระปิตุลาและเหล่ากองทัพ แต่ถึงกระนั้น พระองค์ยังต้องเผชิญกับการก่อกบฎของล้านนาและมณีปุระ เจ้าขี้หุด เจ้าเมืองเชียงใหม่ได้ให้ตละบาน แม่ทัพของมอญได้อยู่เชียงใหม่เพื่อเตรียมทำศึกกับพม่า ปลายปี 1761 กองทัพตละบานเข้าโจมตีเมาะตะมา แต่กองทัพเขาไม่สามารถรวบรวมกำลังพลและแตกกระจายไปที่ต่างๆ ตละบานต้องหนีเข้าป่าและทำสงครามแบบกองโจร พระเจ้าเนียงดอคยีจึงส่งทหารจำนวน 8,000 นายและยึดเชียงใหม่ได้ในปี 1763 และจับครอบครัวเขาเป็นตัวประกัน ทำให้เขาต้องออกมาสวามิภักดิ์และทำงานรับใช้ราชวงศ์ตลอดอายุขัย
กบฏมณีปุระซึ่งนำโดยอดีตกษัตริย์แห่งมณีปุระพยายามตั้งอาณาจักรเดิมของตนโดยขอให้บริษัทอินเดียตะวันออกช่วยพวกตน แต่ต่อมาทหารอังกฤษไม่ได้สนใจ จึงทำให้กบฏแตกสลายไปในที่สุด แต่เวลาต่อมา พวกเขาได้ขออีกครั้ง ทำให้ได้ดินแดนคืนมาในเวลาสั้นๆ เพื่อที่ทางพม่าจะสามารถทำการค้าได้สะดวก
พระเจ้าเนียงดอคยีสวรรคตด้วยพระโรคบิดเช่นเดียวกับพระราชบิดาของพระองค์ เจ้าฟ้าเมิงวะ ขึ้นครองราชย์ โดยมีพระนามเต็มว่า "สิริสุริยาธรรมราชาธิบดี สินพยูฉิน" หรือพระเจ้าสินพยูฉิน
หลังการขึ้นครองราชย์ ทรงตีเมืองมณีปุระคืนมาได้ และยึดลาวกับล้านนาได้ รวมถึงให้มังมหานรธากับเนเมียวสีหบดีรุกอยุธยาและตีเมืองสำเร็จในวันที่ 7 เมษายน 1767
ระหว่างนั้นจักรพรรดิเฉียนหลงฮ่องเต้แห่งราชวงศ์ชิงทรงส่งกำลังทหารเข้ามารุกตีพม่า แต่กองทัพพม่าสามารถต้านทานไว้ได้ แต่ครั้งต่อมา พระยาสีหสุระ หรือ อะแซหวุ่นกี้ ได้ยอมให้ทหารจีนถอนกำลังออกไปได้ และทำสัญญากับจักรพรรดิเฉียนหลง แต่ทรงไม่ยอมรับ พระเจ้าสินพยูฉินทรงพิโรธมากที่อะแซหวุ่นกี้ทำไปโดยไม่รู้ทันการณ์ จึงฉีกสัญญาทิ้ง แต่อะแซหวุ่นกี้ได้แก้มืออีกครั้งโดยการตีมณีปุระได้ และได้รบกับพระเจ้าตากสิน แต่ยังรบไม่เสร็จ พระองค์ก็ทรงเสด็จสวรรคตในวันที่ 10 มิถุนายน 1776 สิริพระชนมายุ 39 พรรษา
ธงชาติพม่ายุคราชวงศ์คองบอง



หลังยุคพระเจ้าสินพยูฉินแล้ว พระเจ้าซินกูมินได้ขึ้นครองราชย์ต่อมา แต่ก็ถูกพระเจ้าหม่องหม่องแย่งราชสมบัติอีก แต่อยู่เพียงไม่กี่สัปดาห์ ก็ถูกเจ้าฟ้าโบดอยึดอำนาจ ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าโบดอพญา หรือพระเจ้าปดุง ในรัชกาลของพระองค์ ทรงย้ายเมืองหลวงไปที่อมรปุระ และได้มีการรุกรานอาณาจักรยะไข่และตีสำเร็จในเวลาต่อมา พระองค์ทรงเหิมเกริมถึงขั้นยกทัพ 9 ทัพแต่ถูกสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทและสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ต้านทานไว้ได้ รวมถึง การช่วยเหลือราชวงศ์อาหมในการยึดอาณาจักรอัสสัมคืนด้วย
ในรัชกาลของพระองค์มีการสร้างเจดีย์องค์ใหญ่ที่มีชื่อว่า "มันตาลาจีสถูป" หรือเจดีย์มิงกุน และระฆังมิงกุน แต่โชคร้ายที่พระองค์สวรรคตก่อน พระราชนัดดาของพระองค์ เจ้าฟ้าสะกาย ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าพาคยีดอ
ในรัชกาลของพระองค์ อาณาจักรมณีปุระกับอาณาจักรอาหมหรืออัสสัมถูกยึดไว้ได้เรียบร้อย จนนำมาซึ่งปัญหากับอังกฤษจนเกิดสงครามอังกฤษ-พม่าครั้งที่ 1 ซึ่งนำไปสู่ความพ่ายแพ้ และการลงสัญญายันดาโบ ซึ่งระบุดังนี้
1.ยกดินแดนอัสสัม,มณีปุระ,ยะไข่,ตะนาวศรี และทางตอนใต้ของแม่น้ำสาละวิน
2.ไม่แทรกแซงกาชาร์กับไจน์ติญา
3.จ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม ล้านปอนด์
4.อนุญาตให้มีการติดต่อผู้แทนระหว่างอังวะกับกัลกาตา
5.เซ็นสัญญาร่วมการค้า

                  นาฬิกาทหารสวยๆ 390บาท สนใจคลิ๊กรูปหรือลิ๊งได้เลยคับ  https://goo.gl/DNifLi

หลังจากนั้น พระเจ้าพาคยีดอทรงเสียพระทัยจนไม่คิดว่าราชการ ยกพระราชอำนาจให้กับพระมเหสีเมนูและพระเชษฐา จนเจ้าฟ้าธาราวดีทรงปราบปรามและจับพระเชษฐาไว้ในตำหนัก และทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าธาราวดี พระองค์ไม่ได้มีบทบาทเด่นใดๆนอกจากทรงสร้างระฆังไว้ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเจดีย์ชเวดากอง
หลังการสวรรคตของพระองค์ เจ้าฟ้าพุกามทรงปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้าพุกาม ในรัชสมัยของพระองค์ พม่าได้ทำสงครามกับอังกฤษอีกครั้งจนต้องเสียดินแดนพะโคและพม่าตอนใต้เกือบทั้งหมด
เจ้าฟ้ามินดง พระอนุชาได้ก่อกบฎที่ชเวโบและทำการยึดอำนาจและปราบดาภิเษกเป็นพระเจ้ามินดง ส่วนพระเชษฐายังคงมีชีวิตต่อไปจนสุดพระชนมายุ พระเจ้ามินดงทรงสั่งปล่อยนักโทษชาวยุโรป เพื่อสร้างความสันติสุขกับอังกฤษ แต่ทรงปฏิเสธที่จะยกดินแดนให้กับอังกฤษอีก

พระสถูปพระเจ้าปดุง



พระเจ้ามินดงถือเป็นกษัตริย์ที่ดีพระองค์หนึ่งของพม่า ตลอดรัชกาลของพระองค์ ทรงใช้เวลาในการปฏิรูปประเทศพม่ากับป้องกันการรุกรานจากอังกฤษ
พระองค์ทรงย้ายราชธานีไปที่กรุงมัณฑะเลย์ และทรงส่งนักวิชาการศึกษาในทวีปยุโรปช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม การปฏิรูปในรัชสมัยพระองค์ได้แก่การปรับปรุงเงินของข้าราชการ การเก็บภาษีรูปแบบใหม่ รวมไปถึงการจัดระเบียบของตำรวจและทหารใหม่ นอกจากนี้ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกเป็นรอบที่ 5 และจารึกลงในศิลาหินและตั้งไว้ที่วัดกุโสดอ
ปลายรัชสมัยได้เกิดความวุ่นวายในราชสำนัก เมื่อพระราชโอรส 2 พระองค์สังหารพระมหาอุปราชาและยึดมัณฑะเลย์ไว้ ก่อนที่จะหนีไปหาอังกฤษที่พม่าใต้ รวมไปถึงการสังหารหมู่พระราชวงศ์จำนวนมากหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้ามินดงแล้ว
พระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า ต้องยอมประกาศสงครามกับอังกฤษอีกครั้ง เนื่องจากถูกอังกฤษเอาเปรียบเรื่องการค้าไม้ จนท้ายสุด ด้วยอาวุธและเทคโนโลยีที่ดีกว่า ทำให้อังกฤษชนะ และพระเจ้าธีบอถูกบังคับให้สละราชสมบัติ เดิมอังกฤษยังคงตั้งใจจะให้มีกษัตริย์ต่อ แต่หลังจากพบว่าพระราชวงศ์ถูกสังหารเกือบหมดสิ้นแล้ว ก็ประกาศยกเลิกระบอบกษัตริย์ในพม่า และยุบเป็นส่วนหนึ่งของบริติชราช ก่อนที่จะนำพระเจ้าธีบอ,พระมเหสีกับพระราชวงศ์ที่เหลือขึ้นเรือกลไฟไปยังเมืองรัตนคีรีซึ่งอยู่ใกล้กับบอมเบย์ และทรงได้ใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวัง ด้วยพระตำหนักที่ค่อนข้างใหญ่โต แต่เทียบไม่ได้กับพระราชวังมัณฑะเลย์ ทรงสวรรคตในวันที่ 19 ธันวาคม 1916 พระมเหสีได้รับอนุญาตให้อาศัยในย่างกุ้งได้จนสิ้นพระชนม์เมื่อ 24 พฤศจิกายน 1925
ยุคสมัยของราชวงศ์พม่านับตั้งแต่อาณาจักรพุกามจนถึงราชอาณาจักรพม่าของราชวงศ์คองบองสิ้นสุดลงด้วยระยะเวลารวม 1,000 กว่าปี ตลอดเวลานั้นมีการแก่งแย่งชิงระหว่างอาณาจักรจนไปถึงสายตระกูลด้วยกัน จนสิ้นสุดลงเมื่ออังกฤษยึดครอง หลังจากนั้นมา ประเทศพม่าจึงดำรงอยู่สุขอีกครั้งหนึ่ง "ในเวลาสั้นๆ"
พระเจ้าธีบอกับพระมเหสี





ขอบคุณเครดิต สมาชิกหมายเลข 701555
http://pantip.com/topic/31963831

เรื่องราวของคุกเกาหลีเหนือสุดโหดจับยังสดชายหนุ่ม


          ชิน ดอง-ฮยอค หนุ่มเกาหลีเหนือผู้หนีรอดจากค่ายกักกันสุดโหด แคมป์หมาย 14 แห่งแดนโสมแดง เผยความทารุณที่ต้องเผชิญ ถูกจับมัดย่างไฟทั้งเป็น วอนโปรดพี่น้องร่วมบ้านเกิด สิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนือกำลังถูกย่ำยีอย่างเลวร้าย

          เกาหลีเหนือเป็นประเทศมีระบอบการปกครองเผด็จการที่น่าสะพรึงกลัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และที่น่ากลัวที่สุดที่หลาย ๆ คนเคยได้ยิน ก็คงจะเป็นเรื่อง "คุกลับ" ซึ่งทางการเกาหลีเหนือมักจะออกมายืนยันว่าคุกเหล่านั้นไม่มีจริง แต่ประชาคมทั่วโลกต่างรู้ว่ามีอยู่จริง จากแผนที่ของกูเกิลเอิร์ธ

ทารุณในคุกโหด
 ภาพจาก google.com

             เมื่อปี 2548 ได้มีชายเกาหลีเหนือสามารถหลบหนีออกมาจาก Camp 14 ได้สำเร็จเป็นคนแรก เรื่องราวความทารุณที่เขาต้องเผชิญ ถูกตีแผ่ผ่านหนังสือ Escape from Camp 14: One Man's Remarkable Odyssey From North Korea to Freedom in the West และล่าสุด (วันที่ 30 กันยายน 2558) เว็บไซต์ dailysignal.com เผยบทสัมภาษณ์พิเศษของ ชิน ดอง-ฮยอค ชายเกาหลีเหนือที่หนีรอดออกมาและได้มากลายเป็นนักสิทธิมนุษยชน เขาโชว์ร่องรอยของบาดแผลที่หลงเหลืออยู่จากการทรมานภายในคุกแห่งนั้น 

            ชินให้สัมภาษณ์ว่า เขาเกิดและเติบโตขึ้นในคุกแห่งนั้น จนกระทั่งเขาอายุได้ 24 ปี ก็สามารถหลบหนีออกมาได้สำเร็จ ภายในคุกแห่งนั้นมืดสนิทและถูกแบ่งเป็นห้องเล็ก ๆ หลายห้องด้วยกัน ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่ทรมานนักโทษและเขาสัมผัสได้ถึงความน่าสะพรึงกลัว 

ทารุณในคุกโหด

            ชินเล่าถึงที่มาของแผลไฟไหม้ที่บั้นเอวด้านหลัง ตอนเขาถูกจับไป ยังไม่ทันจะได้พูดอะไร ก็ถูกผู้คุมจับมัดเท้า-มัดมือ แล้วจับห้อยไว้จากด้านบน จากนั้นนำถ่านติดไฟมาไว้ที่บริเวณหลังของเขา พร้อมทั้งเป่าลมให้เปลวเพลิงลุกท่วมขึ้น เขาถูกเผาทั้งเป็น ทั้งปวดแสบและทรมานมาก ได้กลิ่นผิวหนังของตัวเองไหม้แบบสด ๆ ชินกรีดร้องออกมาอย่างทุกข์ทรมานแสนสาหัส เขาทั้งตะโกนขอร้องให้ผู้คุมยกโทษและให้อภัย พร้อมทั้งขอให้พวกเขาไว้ชีวิต

            ทั้งนี้ ชินอยากให้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งกำลังมีการประชุมสมัชชาสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติอยู่ที่นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ ในตอนนี้ รับรู้ถึงความ รับรู้ถึงความโหดร้ายทารุณที่ชาวเกาหลีเหนือต้องเผชิญและล้มตายจากไป รับรู้ว่าสิทธิมนุษยชนในเกาหลีเหนทอกำลังย่ำแย่เพียงใด และร้องขอความช่วยเหลือเพื่อยุติการการทำที่โหดร้ายและป่าเถื่อนเช่นนี้ 

ทารุณในคุกโหด

            อนึ่ง นรกบนดินแห่งนี้ใช้ชื่อเรียกแทนตัวเองว่า ค่ายกักกันหมายเลข 14 (Camp 14) ตั้งอยู่ในเขตแคชอน มณฑลพยองอัน จึงมีอีกชื่อเรียกว่า ค่ายแคชอน (Kaechon internment camp) และมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Kwan-li-so No.14 ซึ่งหมายถึง ดินแดนแรงงานอาญา หมายเลข 14

ขอบคุณบทความจาก http://hilight.kapook.com/view/127275
 

วันพฤหัสบดีที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ประวัติ สงครามอังกฤษvsพม่า ทั้ง3ครั้ง

สงครามอังกฤษ-พม่า เป็นสงครามระหว่างโลกเก่ากับโลกใหม่ อันเกิดขึ้นในยุคล่าอาณานิคม ซึ่งยามนั้น ชาติตะวันตกได้พัฒนาเทคโนโลยีจนก้าวหน้า ทว่าทรัพยากรที่ลดลง ทำให้ชาติยุโรปมองหาแหล่งทรัพยากรใหม่ และสายตาของพวกเขาก็จับจ้องมายังดินแดนต่าง ๆ ในเอเชียและแอฟริกาการรุกรานของกองทัพชาวผิวขาวผู้มีอาวุธที่ทันสมัยกว่า ทำให้ราชอาณาจักรโบราณหลายแห่งในเอเชียและอาฟริกาต้องล่มสลายลง ในเวลานั้น นักล่าเมืองขึ้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคือ อังกฤษ ซึ่งในศตวรรษที่ 19  จักรวรรดิอังกฤษก็แผ่ขยายครอบคลุมดินแดนมากกว่าชนชาติใด ๆ จนได้รับสมญาว่า ดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน
burmahorseman
กองทหารพม่าสมัยศตวรรษที่ 18
สำหรับราชวงศ์คองบองของพม่านั้น  นับแต่ก่อตั้งมา ก็ทำสงครามขยายแสนยานุภาพมาตลอด จนอาณาเขตของพม่ารุกล้ำพรมแดนทางตะวันออกของอินเดียซึ่งในเวลานั้นเป็นเขตการปกครองของบริษัทอีสต์ อินเดีย ของอังกฤษ จนเกิดเป็นความขัดแย้งที่นำไปสู่สงครามใหญ่สามครั้งซึ่งกลายเป็นจุดอวสานของราชอาณาจักรพม่า

สงคราม อังกฤษ- พม่า ครั้งที่ 1
หลังการสวรรคตของพระเจ้าปดุง ราชอาณาจักรอังวะก็เริ่มเสื่อมลง ขณะนั้น พระเจ้าจักกายแมง ราชนัดดาของพระเจ้าปดุงทรงมีปัญหาขัดแย้งกับอังกฤษ จากการที่พม่ายกทัพไปปราบกบฏในแคว้นมณีปุระและข้ามไปรุกรานอัสสัมและจิตตะกอง ทำให้อังกฤษไม่พอใจ เพราะทั้งสองเป็นแคว้นในอารักขาของอังกฤษ ลอร์ดฮาสติงท์ผู้สำเร็จราชการของอังกฤษประจำอินเดียได้ส่งสาสน์ของเจ้าครองแคว้นอัสสัมและจิตตะกองที่แสดงเจตจำนงค์ยอมเป็นรัฐในอารักขาอังกฤษให้กับพม่า เพื่ออ้างสิทธิเหนือแคว้นทั้งสองและขอให้ทัพพม่าถอนกำลังออกไป ทว่าฝ่ายพม่าได้ประกาศว่าสาส์นนั้นเป็นของปลอมและยกทัพเข้าโจมตีแคว้นทั้งสอง โดยได้รับชัยชนะเหนืออัสสัม รวมทั้งเกาะชาปุระใกล้กับฝั่งจิตตะกองซึ่งเป็นของอังกฤษ ก็ถูกกองทัพพม่าบุกยึดด้วย จากนั้นพม่าได้วางแผนโจมตีพรมแดนเบงกอล ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้สร้างความไม่พอใจให้กับอังกฤษเป็นอย่างมาก ในที่สุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1824 ลอร์ดแอมเฮิร์ส ข้าหลวงใหญ่แห่งอินเดียก็ประกาศสงครามกับพม่า

กองทัพอังกฤษได้ผลักดันทัพพม่าออกจากอัสสัม ทว่า มหาพันธุละ แม่ทัพที่มีความสามารถที่สุดของพม่าก็สามารถขับไล่กองกำลังอังกฤษที่พรมแดนจิตตะกองออกไปได้ อังกฤษจึงเปิดแนวรบใหม่โดยส่งทหาร 11,000 นาย ภายใต้การนำของนายพล อาชิบัล แคมเบลล์เข้าโจมตีกรุงย่างกุ้งทางทะเล  และตีเมืองได้ในวันที่ 11พฤษภาคม ปี  ค.ศ.1824 หลังพ่ายแพ้ กองทหารพม่าล่าถอยเข้าไปในป่าของเมืองพะโค
BritattacBurma1824
กองทหารอังกฤษตีค่ายพม่า
มหาพันธุละได้เดินทัพมาถึงย่างกุ้งพร้อมทหาร 60,000 นาย ทว่ากองทัพพม่าพ่ายแพ้ต่ออังกฤษและมหาพันธุละก็ถูกสังหารในสนามรบ  จากนั้นในเดือนเมษายน ค.ศ.1825 นายพลแคมเบลล์ก็ยึดเมืองแปร เมืองหลวงของพม่าตอนล่างไว้ได้ การสู้รบยังดำเนินเรื่อยมาจนถึงสิ้นปี ค.ศ. 1825  และในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ.1826 ฝ่ายพม่าก็ขอสงบศึก ซึ่งจากสนธิสัญญาที่ทำขึ้นหลังการสงบศึก ทำให้พม่าต้องเสียแคว้นยะข่ายและมณีปุระให้กับอังกฤษแลกกับการที่อังกฤษจะถอนทัพออกจากดินแดนพม่าตอนล่าง จากนั้นในวันที่ 23 พฤศจิกายน  ค.ศ.1826 ก็ได้มีการทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างพม่ากับอังกฤษขึ้น โดยวางอยู่บนผลประโยชน์ของทั้งฝ่าย

สงครามอังกฤษ – พม่า ครั้งที่สอง
สงครามนี้เริ่มขึ้นในปี ค.ศ.1852 โดยหลังแพ้สงครามกับอังกฤษ พระเจ้าจักกายแมงผู้ทำข้อตกลงกับฝ่ายอังกฤษได้ประชวรจนพระสติวิปลาสและถูกโค่นราชบัลลังก์ จากนั้น พระเจ้าพุกามแมง พระโอรสของพระองค์ซึ่งขึ้นครองราชย์แทน ได้ละเมิดสนธิสัญญาที่ทำกับอังกฤษและปล่อยให้มีการใช้ความรุนแรงกับชนชาติอังกฤษ
ฝ่ายอังกฤษได้ส่งสาส์นถึงพระเจ้าพุกามแมง โดยประกาศว่า ปฏิบัติการต่อต้านจะเริ่มขึ้น หากพระองค์ไม่ทรงยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาเดิมที่พระราชบิดาเคยทำไว้ ทว่าฝ่ายพม่ายังคงนิ่งเฉย
ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ.1852 เมื่อไม่มีคำตอบจากฝ่ายพม่า กำลังทหาร 8,100 นายที่นำโดยนายพลเอช ที ก็อดวิน และกองเรือที่บังคับบัญชาโดยผู้การแลมเบิร์ตก็เคลื่อนพลและเปิดฉากสงครามครั้งที่สองระหว่างพม่ากับอังกฤษกองทัพอังกฤษเข้ายึดเมืองเมาะตะมะในวันที่ 5 เมษายน และเข้ายึดกรุงย่างกุ้งในวันที่ 12
amarapura
พระราชวังกรุงอมรปุระของพม่า
ในวันที่ 14 เมษายน หลังการต่อสู้อย่างรุนแรงระหว่างกองทหารพม่ากับอังกฤษ พระมหาเจดีย์ชเวดากองก็ถูกทัพอังกฤษยึดไว้ได้ จากนั้นกองทัพอังกฤษก็เข้ายึดพะสิมและเมืองพะโคได้ตามลำดับหลังการปะทะกันประปรายรอบบริเวณเจดีย์พระธาตุมุเตาและด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารบริษัท อีสต์ อินเดียกับรัฐบาลอังกฤษก็ลงมติให้ผนวกพื้นที่ตอนล่างของหุบเขาอิระวดีรวมทั้งเมืองแปรเข้าไว้ในเขตปกครอง จากนั้นในเดือนธันวาคม ลอร์ดดาลฮูส ข้าหลวงอังกฤษประจำอินเดียก็แจ้งกับพระเจ้าพุกามแมงของพม่าว่า อาณาเขตพม่าตอนล่างถือว่าอยู่ในเขตปกครองของอังกฤษและถ้ากองทหารของพระองค์ทำการต่อต้านใด ๆ กองทัพอังกฤษจะเข้าทำลายอาณาจักรทั้งหมดของพระองค์

สงครามอังกฤษ- พม่า ครั้งที่สาม (1885-1886)
สงครามครั้งนี้เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสีป่อ หรือ ธีบอ และเป็นสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างพม่ากับอังกฤษซึ่งส่งผลให้พม่าต้องสูญเสียเอกราชในเวลาต่อมา  เหตุการณ์นี้เริ่มจากการที่บริษัท Bombay-Burma Trading Company ถูกยกเลิกสิทธิที่จะไม่ต้องเสียภาษีให้ทางการพม่า เรื่องราวลุกลามจนทางอังกฤษยื่นหนังสือร้องเรียนต่อราชสำนักพม่า เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ค.ศ.1885
ในวันที่ 9  พฤศจิกายน ทางพม่าปฏิเสธที่จะเจรจาด้วย ดังนั้นแผนการเข้ายึดมัณฑะเลย์และล้มล้างราชบัลลังก์ของพระเจ้า สีป่อ จึงเริ่มขึ้น
ในเวลานั้น ดินแดนของพม่าตอนบน ส่วนใหญ่เป็นเขตป่าเขาที่ทุรกันดาร และพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่เหมาะสำหรับการปฏิบัติการทางทหาร และทางอังกฤษเองก็มีข้อมูลทางภูมิศาสตร์ของพม่าตอนบนเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามเนื่องจากอังกฤษได้ใช้เรือกลไฟเดินทางขึ้นลงในแม่น้ำอิระวดีมาเป็นเวลานาน จากย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์และพบว่าวิธีที่เร็วและสะดวกที่สุดในการทำสงครามครั้งนี้คือการเคลื่อนทัพทางน้ำมุ่งตรงไปสู่เมืองหลวงของพม่า โดยนับเป็นโชคดีของทางอังกฤษที่เรือกลไฟเบาล่องแม่น้ำและ พลเอก เพรนเดอกัสต์ ถูกวางตัวให้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองทัพในการรบครั้งนี้ได้ใช้เรือกลไฟและเรือลำเลียงของบริษัทฟลอติลลา อิระวดี ซึ่งตั้งอยู่ที่ย่างกุ้งในการลำเลียงกำลังทหารและอาวุธ โดยมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทที่มีความรู้เรื่องร่องน้ำทำหน้าที่ควบคุมเรือทั้งหมด กำลังพลที่ใช้ ประกอบด้วยทหารอังกฤษ 9,034 นาย ทหารพื้นเมือง 2,810 นาย ปืนใหญ่ 67 กระบอก ปืนกลเรือ 24 กระบอก ส่วนกองเรือทั้งหมดประกอบด้วยเรือ 55 ลำ 
Mindhla1885
กองทัพอังกฤษทำลายป้อมมินหล่า  
กองทัพอังกฤษเคลื่อนพลออกจากย่างกุ้งขึ้นไปตามแม่น้ำอิระวดี โดยเมื่อพระเจ้าสีป่อทรงทราบเรื่องก็ทรงมีพระบรมราชโองการเรียกระดมทหารเพื่อรับศึก ฝ่ายพม่าได้วางแนวป้องกันไว้ตลอดลำน้ำอิระวดี แต่ปืนใหญ่แบบโบราณของพม่าก็ไม่อาจเทียบกับอานุภาพการยิงของปืนใหญ่แบบใหม่ของกองทัพอังกฤษได้ ทหารอังกฤษยกพลขึ้นบกที่ป้อมมินหล่าและเข้าโจมตีป้อมอย่างดุเดือด ทำให้แม่ทัพพม่าสองนายเสียชีวิตในที่รบพร้อมกับทหารพม่าอีก 176 นาย ในขณะที่ฝ่ายอังกฤษสูญเสียกำลังเพียง 3 นายเท่านั้น จากนั้นกองเรืออังกฤษได้เคลื่อนทัพไปถึงเมืองมยิงยัน เจ้าเมืองได้จัดกระบวนทัพแบบโบราณออกมารบ แต่ก็ถูกปืนใหญ่เรือรบอังกฤษยิงถล่มจนแตกกระจายและกองทหารอังกฤษก็เข้าถึงมัณฑะเลย์ได้โดยไร้ผู้ขัดขวาง พระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตผู้เป็นพระมเหสีถูกนำไปประทับที่อินเดียจวบจนสิ้นพระชนม์

แม้ว่าสงครามครั้งนี้ อังกฤษจะสามารถเผด็จศึกพม่าได้ในไม่กี่วัน ทว่าการเนรเทศพระเจ้าสีป่อและพระนางศุภยาลัตออกจากประเทศ กลับก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง ชาวพม่าจำนวนมากต่างพากันลุกฮือต่อต้านการปกครองของอังกฤษ ส่งผลให้เกิดการสู้รบแบบสงครามกองโจรกระจายไปทั่วภูมิภาคต่าง ๆ ของพม่าไม่เว้นแม้แต่พม่าตอนล่างที่ตกอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษมาก่อนหน้านั้นแล้วความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้ทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอังกฤษต้องเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมากก่อนที่อังกฤษจะสามารถควบคุมสถานการณ์ทั้งหมดไว้ได้ หลังจากนั้นพม่าก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของสหราชอาณาจักรโดยสมบูรณ์จนมาถึงปี ค.ศ.1947  จึงได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ

ขอบคุณเครดิตบทความจาก http://www.komkid.com/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1/%E0%B8%9E%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%94%E0%B8%B5/

รวมภาพจากความรู้สึกของชาวปาเลสไตน์บนกำแพงสูงของอิสราเอล

บริเวณพื้นที่เขตรอยต่อแต่ละเมืองถูกล้อมรอบด้วยกำแพงสูง และด่านตรวจที่เข้มงวด
ประเทศอิสราเอล เป็นประเทศที่มีพื้นที่เล็กๆ เมื่อเทียบกับประเทศไทย ประเทศอิสราเอลเล็กกว่าถึง 25 เท่า แต่ในพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยสงบจากสงครามเลยนับ พันปี มีความขัดแย้งกันมายาวนาน สลับเปลี่ยนอำนาจผู้ได้ครอบครองกันไป จนปัจจุบัน อำนาจได้ตกเป็นของ อิสราเอล หรือ ชาวยิว
กำแพงสูงใหญ่ที่ถูกสร้างขึ้นในแต่ละเขต ของอิสราเอลถูกสร้างมาเพื่อสกัดกั้นชาวปาเลสไตน์ 

กำแพงเบอร์ลินนั้น แบ่งแยกระหว่างอุดมการณ์  แต่กำแพง อิสราเอล แบ่งแยกระหว่างเชื้อชาติ  




























วันพุธที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Sacred Band Of Thebes กองทัพสีม่วงสู้จนตัวตายไปกับคนรัก


ในยุคกรีกโบราณ มีเรื่องราวกล่าวขานถึง กองกำลังศักดิ์สิทธิ์แห่งนครธีบส์ ซึ่งความห้าวหาญของเหล่านักรบในกองกำลังนี้ ได้เป็นที่ครั่นคร้ามแก่เหล่าข้าศึกศัตรู ทว่าทหารทุกคนในกองกำลังนี้ล้วนแต่เป็นชายที่รักร่วมเพศทั้งสิ้นและบุรุษแต่ละคนต่างก็มีคู่รักของตนอยู่ร่วมทัพเดียวกับตนด้วย โดยการตั้งกองกำลังนี้ขึ้นมาอยู่บนบรรทัดฐานที่ว่า นักรบแต่ละคนจะยอมตายเพื่อคนรักที่อยู่ในกองทัพและจะไม่ยอมทิ้งคู่รักของเขาอย่างเด็ดขาดในบรรดาอารยธรรมโบราณต่างๆ อารยธรรมกรีกดูจะเป็นอารยธรรมเดียวที่ปรากฏเรื่องราวของความรักในเพศเดียวกันให้เห็นมากที่สุด โดยเฉพาะความรักระหว่างชายกับชาย ทั้งนี้ อริสโตเติล นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงในสมัยกรีกโบราณ เคยกล่าวไว้ว่า ความรักที่บุรุษมีให้กันนั้นเป็นสิ่งที่สูงส่ง เนื่องจากในยามที่บุรุษมีความเสน่หาต่อกันนั้น พวกเขาได้หลอมรวมสติปัญญาอันสูงส่งของทั้งคู่เข้าไว้ด้วยกันด้วย

สังเกตุจากรูปปั้นบุรุษในสมัยกรีกโบราณมักมีร่างกายกำยำ
    สาเหตุสำคัญที่ชาวกรีกโบราณเชื่อว่า ความรักระหว่างชายกับชายนั้นเป็นสิ่งที่สูงส่ง ก็เนื่องด้วยว่า ในยุคกรีกโบราณนั้น ชาวกรีกให้คุณค่าของความเป็นคน สำหรับเพศหญิงและชายไม่เท่าเทียมกัน โดยชาวกรีกถือว่า สตรีนั้นต่ำต้อย ด้อยค่ากว่าบุรุษมากมายนักและความรักของชายกับหญิงมีเพียงเพื่อการสืบทอดเผ่าพันธุ์เป็นสำคัญ แต่จะไม่ถือว่าเป็นความรักอันสูงค่าเนื่องด้วยคู่รักทั้งสองไม่มีความเท่าเทียมกัน ดังนั้นหากว่าผู้ชายต้องการจะมีความรักอันสูงค่า ก็มีแต่เพียงบุรุษด้วยกันเท่านั้น ที่มีควรค่าพอที่จะทำให้เป็นความรักอันสูงค่าได้
     อย่างไรก็ตาม สำหรับนิยามความรักของชาวกรีก ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องของกามารมณ์มาเกี่ยวข้องด้วยเสมอไป หลายกรณีที่ความรักระหว่างบุรุษนั้น เกิดจากความนิยมชมชอบในสติปัญญา ความสามารถของกันละกัน เหมือนดังเช่นความรักของชายชาตินักรบที่บูชาในความกล้าหาญและเสียสละของอีกฝ่าย หรือ กล่าวให้ชัดคือ เป็นความรักที่ประกอบด้วยมิตรภาพอันลึกซึ้งระหว่างเพื่อนนั่นเอง
    และด้วยพื้นฐานของความรักอันสูงส่งตามแบบกรีกนี่เอง ที่ทำให้นครธีบส์ได้จัดตั้งกองกำลังศักดิ์สิทธิ์ขึ้น โดยทหารทุกคนในกองกำลังนี้ ต่างก็มีคู่รักของตัวเองอยู่ในกองกำลังเดียวกันด้วย พวกเขาจะใช้ชีวิตในค่ายด้วยกัน ฝึกรบด้วยกันและยามที่เข้าต่อสู้กับศัตรู ต่างคนต่างก็จะไม่ทอดทิ้งกันและด้วยสาเหตุนี้เอง ที่ทำให้กองกำลังนี้กลายเป็นกองทหารที่แข็งแกร่งที่สุดในยุคนั้น โดยทุกครั้งที่เข้าประจัญบานกับศัตรู พวกเขาจะไม่ยอมถอยแม้แต่ก้าวเดียว
    อวสานของกองกำลังศักดิ์สิทธิ์ได้มาถึง เมื่อกองทัพมาซิโดเนียของพระเจ้าฟิลิปยกเข้ารุกรานนครธีบส์และพันธมิตรชาวกรีกอื่นๆ การประจัญบานครั้งใหญ่เกิดขึ้นที่ทุ่งบีโอเชีย กองทัพพันธมิตรชาวกรีกต่อสู้กับผู้รุกรานจากแดนเหนืออย่างสุดกำลัง ทว่าไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพและยุทธวิธีรบของทัพมาซิโดเนียได้ ทำให้ในที่สุด กองทัพพันธมิตรกรีกก็แตกพ่ายและหนีออกจากสมรภูมิ  ยกเว้นก็แต่กองกำลังศักดิ์สิทธิ์ของชาวธีบส์เท่านั้น ที่ปักหลักสู๋จนตัวตายทั้งกองทัพ
    ซากศพของพวกเขาถูกฝังรวมกันในหลุมใหญ่และมีศิลาวางทับอยู่ ส่วนที่ข้างบนหลุมศพนั้นมีรูปสลักของสิงโตที่ทำด้วยหินตั้งอยู่ ซึ่งถือเป็นการฝังศพอย่างมีเกียรติ เนื่องจากผู้ชนะชาวมาซิโดเนียรู้สึกนับถือในความกล้าหาญของนักรบแห่งนครธีบส์ นอกจากนี้ วีรกรรมของกองกำลังศักดิ์สิทธิ์ ยังเป็นที่ประทับใจของเจ้าชายอเล็กซานเดอร์ ผู้ที่ในเวลาต่อมา คือ พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นอย่างมากอีกด้วย

เครดิต http://www.komkid.com/new/%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B3%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%98%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B9%8C/


วันอังคารที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2558

เซอร์ วิลเลียม วอลเลซ Sir William Wallace

ก่อนอ่านเพื่อสร้างบรรยากาศเปิดเพลงจากภาพยนตร์ braveheart ไว้แล้วฟังไปพร้อมกับอ่าน

William_Wallace1


เรื่องราวของวีรบุรุษมักเป็นที่กล่าวขานและจดจำผ่านกาลเวลา ไม่ว่าจะยาวนานเพียงใด ทว่าชะตากรรมของวีรบุรุษส่วนใหญ่ มักลงเอยอย่างน่าเศร้า จนกล่าวกันว่า หลายครั้ง ที่วีรบุรุษต้องใช้เลือดและชีวิตของตนชำระล้างความทุกข์ทนให้ปวงประชา ดังเช่นเรื่องราวของ วิลเลียม วอลเลซ วีรบุรุษแห่งสก๊อตแลนด์ ผู้นี้
แต่เดิมเกาะบริเตนใหญ่ถูกแยกเป็นราชอาณาจักรอิสระสามอาณาจักรคือ อังกฤษ สก๊อตแลนด์ และเวลส์ ในรัชสมัยของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่หนึ่ง อังกฤษประสบความสำเร็จในการผนวกรวมแคว้นเวลส์เข้าในอำนาจ และจากนั้นอังกฤษก็มุ่งเป้าหมายต่อมายังสก๊อตแลนด์
วิลเลียม วอลเลซ ถือกำเนิดที่หมู่บ้านเอลเดอร์สลี ในเรนฟริวไชร์ ทางภาคตะวันตกของสก๊อตแลนด์  โดยเป็นสมาชิกในตระกูลวอลเลซ ซึ่งเป็นตระกูลขุนนางศักดินาของในรัชสมัยของกษัตริย์อเล็กซานเดอร์แห่งสก๊อตแลนด์ซึ่งปกครองราชอาณาจักรด้วยความสงบสุข จนเมื่อวันที่ 19 มีนาคม ค.ศ.1286 กษัตริย์อเล็กซานเดอร์สิ้นพระชนม์หลังตกม้า โดยมีเพียงพระนัดดาคือ เจ้าหญิงมากาเร็ตแห่งนอร์เวย์ ที่เป็นรัชทายาท
edward1พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งแห่งอังกฤษ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งแห่งอังกฤษทรงอาศัยความอ่อนแอทางการเมืองของสก็อตแลนด์ จัดการให้พระโอรสของพระองค์หมั้นกับเจ้าหญิงมากาเร็ต ทว่าหลังการหมั้น พระนางได้ล้มป่วยและสิ้นพระชนม์ลงในปี ค.ศ.1290 อย่างไรก็ตาม นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามามีอิทธิพลในสก็อตแลนด์ของอังกฤษ
การสิ้นพระชนม์ของเจ้าหญิงมากาเร็ตก่อให้เกิดสุญญากาศอำนาจ ทำให้ขุนนางตระกูลต่างๆอ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์ และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสงครามกลางเมือง สภาขุนนางจึงเชิญพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดมาเป็นผู้อภิบาลสก็อตแลนด์ และจากนั้นเมื่อเหลือขุนนางผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์สก็อตเพียงสองคน คือ จอห์น บอลลอยด์ และ โรเบิร์ต บรูซ  ในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ.1292 ศาลสูงศักดินาแห่งสก็อตแลนด์ก็ได้มีมติให้จอห์น บอลลอยด์ขึ้นเป็นกษัตริย์ โดยโรเบิร์ต บรูซ ก็ยอมรับมตินี้
ทว่าแม้จะได้เป็นกษัตริย์แล้ว ทว่าพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดกลับเข้าแทรกแซงการบริหารประเทศในฐานะผู้อภิบาล จนเป็นเหตุให้ พระเจ้าจอห์น บอลลอยด์ ทรงยกเลิกคำมั่นที่จะยอมให้พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดเป็นผู้อภิบาลสก็อตแลนด์ เมื่อเป็นดังนั้น พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดจึงอ้างเป็นเหตุยกทัพเข้าตีสก็อตแลนด์ในปี ค.ศ.1296 โดยฝ่ายสก็อตแลนด์ได้พ่ายแพ้ในสงคราม อังกฤษจึงบีบให้พระเจ้าจอห์น สละราชสมบัติ พร้อมทั้งบังคับขุนนางนายสก็อต 1,800 คนให้เข้าสวามิภักดิ์และได้กับนำเอา “หินลิขิตชะตา” (Stone of Destiny) ไปไว้ที่ลอนดอน
หลังได้รับชัยชนะ อังกฤษได้ดำเนินนโยบายกลืนชาติ โดยส่งขุนนางอังกฤษมาครอบครองที่ดินแดนในสก็อตแลนด์และให้สิทธิพิเศษแก่ขุนนางอังกฤษให้มีสิทธิ์เปิดบริสุทธิ์เจ้าสาวชาวสก็อตที่เช่าที่ดินขุนนางอังกฤษในคืนแรกของการแต่งงานทั้งยังกวาดล้างสังหารบรรดาผู้ที่ขัดขืนอย่างโหดเหี้ยม
williamwallace1
วิลเลียม วอลเลซได้เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านอังกฤษใน ปี ค.ศ.1297 หนึ่งปี หลังการยึดครองของอังกฤษ โดยเขาได้เข้าสังหาร วิลเลียม เดอ เฮเซริก ข้าหลวงแห่งลานาร์ค สันนิษฐานกันว่า มูลเหตุแห่งการต่อต้านอาจมาจากความขัดแย้งส่วนตัวระหว่างเขากับทางการอังกฤษ หลังจากนั้น วอลเลซได้เข้าร่วมกับ วิลเลียม ฮาร์ดี ลอร์ดแห่งดักลาส โดยระดมพวกชาวที่ราบสูงในสก็อตแลนด์เข้าเป็นกองกำลังต่อต้านและออกโจมตีป้อมค่ายของอังกฤษ
ก่อนที่การกบฏจะลุกลามไปทั่วประเทศ พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่หนึ่งทรงมีพระบัญชาให้เอิร์ลแห่งเซอเรย์และเซอร์ ฮิวจ์แห่งเครสซิงก์แฮม นำทัพมาปราบกบฏชาวสก็อต วิลเลียม วอลเลซและแอนดรูว์ มอเรย์ได้นำกองกำลังผู้รักชาติไปตั้งรับทัพอังกฤษที่สะพานสเตอร์ลิงโดยฝ่ายสก็อตมีกำลังทหารราบเพียงห้าพันและทหารม้าสามร้อยนาย ส่วนทัพอังกฤษมีทหาราบกว่าเจ็ดพันนายและทหารม้าสองพัน
วอลเลซนำกำลังไปสกัดทัพข้าศึกที่บริเวณสะพานโดยจัดเตรียมอาวุธพิเศษสำหรับรับมือกับกองทหารม้า นั่นคือแหลนยาวหกเมตร และในวันที่ 11 กันยายน ค.ศ.1297 กองทัพทั้งสองฝ่ายก็เข้าปะทะกัน โดยฝ่ายอังกฤษยกพลข้ามสะพานบุกเข้าโจมตีก่อน ทว่าพลหอกยาวได้สกัดกองทหารม้าของอังกฤษไม่ให้บุกลงจากสะพานได้ ทำให้กองทหารอังกฤษแออัดอยู่บนสะพานนั้น ข้างฝ่ายเอิร์ลแห่งเซอเรย์ แม่ทัพอังกฤษได้สั่งให้ทหารทั้งหมดบุกข้ามไปให้ได้ จนทำให้สะพานไม่อาจทานน้ำหนักได้(บางตำราระบุว่า วอลเลซแอบส่งทหารไปถอดหมุดสะพานเอาไว้) ในที่สุดสะพานก็ถล่มลงมา ส่งผลให้ทหารอังกฤษนับพันร่วงลงน้ำ และเป็นโอกาสให้กองทัพสก็อตเข้าบดขยี้ โดยสงครามจบลงด้วยความพ่ายแพ้ของอังกฤษที่สูญเสียทหารไปกว่าหกพันนาย
StilingBridgการรบที่สะพานสเตอร์ลิง
หลังชัยชนะที่สะพานสเตอร์ลิง สภาขุนนางแต่งตั้งให้วอลเลซเป็นเซอร์ วิลเลียม วอลเลซ แม่ทัพใหญ่ผู้พิทักษ์แห่งสก็อตแลนด์ จากนั้นเซอร์วิลเลียมได้นำทัพบุกเข้าปลดปล่อยเมืองต่างๆจากการยึดครองของอังกฤษ และนำทัพเข้ายึดเมืองยอร์คซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของอังกฤษได้สำเร็จ
พระเจ้าเอ็ดเวิร์ดทรงกริ้วมาก และในปีรุ่งขึ้น คือ ค.ศ. 1298 พระองค์ได้นำทัพใหญ่บุกสก็อตแลนด์ด้วยพระองค์เองในเดือนเมษายน โดยทัพอังกฤษประกอบด้วยทหารราบ 12,500 นายและทหารม้า 2,500 นาย และพระองค์ทรงจ้างพลธนูชาวเวลส์พร้อมธนูยาวซึ่งเป็นอาวุธยิงที่มีอานุภาพร้ายแรงที่สุดในยุคนั้นมาเป็นจำนวนมากด้วย
วิลเลียมนำกองทัพยกไปตั้งรับทหารอังกฤษที่ฟอลเคิร์ก เนื่องจากความไม่ลงรอยกันในสภาขุนนาง ทำให้ฝ่ายสก็อตแลนด์ระดมไพร่พลได้เพียง 6,000 นาย ทั้งสองทัพเข้าปะทะกันในวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ.1298 โดยฝ่ายสก็อตแลนด์พ่ายแพ้ยับเยิน
Falkirkสมรภูมิฟอลเคิร์ก
หลังการรบ ฝ่ายอังกฤษยกทัพเข้าย่ำยีสก็อตแลนด์และยึดพื้นที่กลับคืน ขณะที่ฝ่ายสก็อตใช้กลยุทธ์กองโจรซุ่มโจมตีและลอบสังหาร ซึ่งแม้จะทำให้ฝ่ายอังกฤษเสียขวัญกำลังใจ แต่ก็ยังไม่ลดละการตามล่าตัววอลเลซ จนสุดท้ายเขาต้องมอบอำนาจ “แม่ทัพใหญ่ผู้พิทักษ์แห่งสก็อตแลนด์” ให้แก่โรเบิร์ต บรูซ เอิร์ลแห่งคาร์ริก และ จอห์นโคมีนแห่งบาเดนอชซึ่งเป็นเขยของอดีตกษัตริย์จอห์น บอลลอยด์
วอลเลซได้เดินทางไปราชสำนักฝรั่งเศสกับวิลเลียม ครอว์ฟอร์ดเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระเจ้าฟิลิปส์ เลอ เบล ในการต่อสู่เพื่ออิสรภาพของสก็อตแลนด์ อย่างไรก็ตาม การเจรจายังไม่เป็นผลใดๆ จนกระทั่งในปี ค.ศ.1305 วิลเลียม วอลเลซได้รับการร้องขอจากสภาขุนนางสก็อตแลนด์ให้เดินทางกลับอังกฤษ
สายลับได้ข่าวของวอลเลซ และเตรียมจับกุม จนเมื่อในวันที่ 3 สิงหาคม ค.ศ.1305 วอลเลซก็ถูกจับโดย จอห์น เดอเมนทิธ ขุนนางชาวสก็อตผู้ภักดีต่ออังกฤษ วอลเลซถูกส่งตัวไปลอนดอนเพื่อรับการไต่สวนความผิดฐานกบฎ ซึ่งวอลเลซได้กล่าวสู้คดีว่า “ข้าพเจ้ามิได้เป็นกบฏต่อพระเจ้าเอ็ดเวิร์ด เพราะข้าพเจ้าไม่ได้เป็นข้าแผ่นดินของพระองค์ พระเจ้าจอห์น บาลลิออล คือกษัตริย์ของข้าพเจ้า”และยืนยันไม่ยอมรับสารภาพ
Wallaceexecution
ในวันที่ 23 สิงหาคม ปีเดียวกัน วอลเลซ ถูกเปลื้องผ้าในศาล ก่อนถูกม้าลากออกไปตามถนนในเมืองและถูกแขวนคอในลานเมืองสาธารณะที่ตลาดสมิทฟีลด์ (วิธีแขวนคอกบฏของอังกฤษโบราณ ใช้วิธีเปลื้องผ้าและเอาม้าลากไปแขวนคอไม่ให้ถึงตายจนถึงกลางตลาดแล้วจึงหั่นอวัยวะออกทีละชิ้นโดยเริ่มจากองคชาติแล้วเผาต่อหน้า เมื่อนักโทษตายจึงตัดคอและหั่นศพเป็น 4 ท่อนแล้วนำศีรษะไปดองไม่ให้เน่าเปื่อยก่อนนำไปเสียบประจาน)
ศีรษะของวิลเลียม วอลเลซถูกเสียบประจานที่สะพานลอนดอน ส่วนแขนขาถูกแยกนำไปเสียบประจานที่นิวคาสเซิล เบอร์วิก สเตอร์ลิงและที่แอเบอร์ดีน อย่างไรก็ตาม ความตายของวอลเลซได้จุดประกายความกล้าในหมู่ชาวสก็อตและนำไปสู่การลุกฮืออีกครั้ง
RobertBruceโรเบิร์ต เดอะ บรูซ
จนกระทั่งใน วันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ.1314 โรเบิร์ต เดอะ บรูซ ได้นำทัพชาวสก็อตเข้ารบกับทัพอังกฤษที่แบนนอคเบิร์นและได้รับชัยชนะ ทำให้สก็อตแลนด์ได้เป็นเอกราช จากนั้นโรเบิร์ต บรูซได้ขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งสก็อตแลนด์
bannockburnสงครามที่แบนนอคเบิร์น
แม้ วิลเลียม วอลเลซ จะเสียชีวิตอย่างอนาถ แต่ความตายของเขาก็ไม่สูญเปล่า เพราะสุดท้าย สิ่งที่เขาทำก็ประสบความสำเร็จ นั่นคือ คืนความเป็นอิสระให้กับเพื่อนร่วมชาติ


น้ำตาไหล ฉากในภาพยนตร์ตอนจบของ braveheart  โรเบิร์ต เดอะ บรูซ ยกทัพไปอังกฤษมอบตำแหน่งให้ 


ขอบคุณเครดิตบทความจาก http://www.komkid.com/new/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A1-%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%8B/