กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างสงครามกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส สมัยนั้นใช้ชื่อว่ากองพันทหารราบที่ ๓ มีพันตรี ขุนนิมมาณ
กลยุทธเป็นผู้บังคับกองพัน ได้นำทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดรักษาดินแดนด้านทิศตะวันออกติดกัประเทศกัมพูชา ตามแนวหลักเขตแดนที่ ๔๓ ถึง ๔๖ และได้รุกเข้าไปในเขตอินโดจีนฝรั่งเศส "ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทยมาก่อน" ตั้งแต่วันที่ ๒๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๘๓
ณ สมรภูมิบ้านพร้าว ห่างจากดินแดนไทยเข้าไปในประเทศกัมพูชา ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร "ซึ่งเป็นดินแดนของประเทศไทยมาก่อนเช่นกัน" พันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธได้รับคำสั่งให้นำทหารในบังคับบัญชาเข้ายึดยุทธภูมิแห่งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๓ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ เมื่อนำกำลังเคลื่อนไปยังบ้านพร้าวนั้น พบร่องรอยค่ายเก่าของทหารต่างชาติในอินโดจีนดัดแปลงเป็นอย่างดีอยู่แล้ว และไม่มีการต้านทานใดๆ เนื่องจากฝ่ายข้าศึกได้ถอนกำลังออกไปหมด ปล่อยให้ฝ่ายเราเข้ายึดเพื่อจะทุ่มกำลังเข้าโจมตีทำลายล้างกองพันทหารราบที่ ๓ ที่บ้านพร้าวนี้ในภายหลัง
จากการตรวจภูมิประเทศของพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ ผู้บังคับกองพัน เห็นว่าไม่ยึดที่บ้านพร้าว เนื่องจากฝ่ายข้าศึกรู้เบาะแสแล้ว และในตอนเย็นหลังจากนำกำลังเข้ายึดได้ถูกหน่วยลาดตระเวนของข้าศึกลอบยิง จากการตรวจภูมิประเทศหน้าแนวแล้ว เห็นว่าเหมาะสมดีกว่า จึงขออนุญาตเคลื่อนกำลังจากที่ตั้งเดิมออกไปอีก ๔ กิโลเมตร ไปตั้งมั่นอยู่ที่ห้วยยางซึ่งเป็นลำห้วยไม่มีน้ำ ภูมิประเทศคันคูง่ายแก่การดัดแปลงเป็นที่มั่นตั้งรับได้เป็นอย่างดี สามารถยิงได้อย่างกว้างขวางและกองทหารต่างชาติได้ตัดถนนลำลองขึ้นสายหนึ่ง จากทางเหนือตรงมายังบ้านพร้าว ถนนสายนี้เป็นประโยชน์แก่การวางกำลังของฝ่ายเราอย่างดียิ่ง โดยฝ่ายเราได้วางกำลังเป็นรูปตัวยูหรือรูปปากฉลามคร่อมถนนที่ห้วยยางไว้
ความเข้าใจของกองทหารต่างชาติ เข้าใจว่าทหารไทยอยู่ที่บ้านพร้าว แต่ที่จริงแล้วด้วยการวางแผนการยุทธ์อันแยบยลและลึกล้ำของพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธได้นำกำลังมาตั้งมั่น
ที่ห้วยยางเสียแล้ว ตั้งแต่วันที่ ๑๔ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๘๔ ด้วยความสงบเงียบ มีวินัยอย่างดีเยี่ยมตามคำสั่งผู้บังคับกองพัน
ในเวลาเช้ามืดของวันที่ ๑๖ มกราคมนั่นเอง กองทหารต่างชาติได้ทุ่มกำลัง ๑ กรม มีกำลัง ๓ กองพัน เข้าตีทำลายกองพันทหารราบที่ ๓ ในบังคับบัญชาของพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ ที่บ้านพร้าว โดยจัดฐานออกตีที่ห้วยยาง เนื่องจากคิดว่าทหารไทยอยู่ที่บ้านพร้าวและไม่รู้ว่าฝ่ายเราได้เปลี่ยนแผนการยุทธ์เสียแล้ว กลยุทธ์ของฝ่ายเราได้กำหนดให้ฟังสัญญาณการยิงฉากจากปืนกลของร้อยตรียง ณ นคร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม โดยฟังคำสั่งจากร้อยเอกอัมพร เสือไพฑูรย์
ครั้นเมื่อเวลา ๓ นาฬิกา ของวันที่ ๑๖ มกราคม เริ่มได้ยินเสียงยานยนต์ของข้าศึกมาแต่ไกลหลายคัน แสดงถึงการเคลื่อนไหวของฝ่ายข้าศึก จนกระทั่งเวลา ๔ นาฬิกา กองทหารต่างชาติได้ส่งลาดตระเวนห่างทหารไทยราว ๒๐ เมตร ตรวจการณ์อยู่ประมาณ ๕ นาที ฝ่ายเราก็สงบนิ่งอยู่ด้วยความใจเย็นและมีวินัยอย่างดีเยี่ยม ถึงแม้สุนัขที่มากับข้าศึกจะวิ่งเข้ามาในแนวทหารไทยและดมทหารไทยคนโน้นบ้างคนนี้บ้าง แต่ก็ไม่เห่า ซึ่งก็ไม่ทราบว่าเป็นเพราะเหตุใดจึงไม่เห่า จากนั้นพลลาดตระเวนนำและสุนัขข้าศึกจึงได้กลับไป โดยคิดว่าไม่มีทหารไทยอยู่ที่ห้วยยาง ทั้งๆ ที่มีกำลังอยู่ทั้งกองพัน
อีก ๑ ชั่วโมงต่อมา คือเมื่อเวลาประมาณ ๕ นาฬิกา นาทีระทึกใจก็ได้อุบัติขึ้น เมื่อกรมทหารราบที่ ๕ กองพันที่ ๓ ของกองทหารต่างชาติ ซึ่งมีประวัติการรบอย่างโชกโชนและเป็นหน่วยกล้าตายชั้น ๑ ที่มีกิตติศัพท์การรบอันเกรียงไกรมาแล้วในอินโดจีน ได้เคลื่อนกำลังเข้ามาเป็นขบวนตามเส้นทางที่ฝ่ายเราวางกำลังไว้ ปล่อยให้กำลังส่วนหน้าของข้าศึกเลยแนวรบไปด้วยความใจเย็น เมื่อกำลังส่วนใหญ่เข้ามาอยู่ในพื้นที่สังหารแล้ว สัญญาณการยิงฉากจากปืนกลของร้อยตรียง ณ นคร จึงได้ระเบิดขึ้น พร้อมกับเสียงคำรามของปืนทุกกระบอกของกำลังฝ่ายเราทั้งกองพัน สู้รบถึงขั้นตะลุมบอนกันด้วยดาบปลายปืนอย่างทรหดจนถึงเวลา ๗ นาฬิกา เสียงร้องครวญครางอย่างเจ็บปวดและเสียงสั่งการดังลั่นไปทั่วยุทธภูมิ ด้วยยุทธวิธีของกองพันทหารราบที่ ๓ ในบังคับบัญชาของพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ ในครั้งนี้สามารถบดขยี้ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิตไปประมาณ ๔๐๐ นาย ถูกจับเป็นเชลยเป็นจำนวนมาก ตัวผู้บังคับกองพันของกองทหารต่างชาติเสียชีวิตในที่รบ ยึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึก ซึ่งประดับเหรียญกล้าหาญครัวเดอแกร์ไว้ได้ กองทหารเขมรและทหารญวนที่ติดตามมาอีก ๒ กองพันแตกกระจัดกระจายไป นับว่ากองทหารต่างชาติซึ่งผ่านการรบอย่างโชกโชนมาแล้วได้พินาศย่อยยับเกือบทั้งหมดทั้งกองพัน ด้วยพิษสงของทหาร
ไทยทั้งกองพันทหารราบที่ ๓ ในบังคับบัญชาของพันตรี ขุนนิมมาณกลยุทธ สำหรับฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ ๑ นาย คือพลทหารจอน ปรีพงศ์ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ๒ นาย
ภาพเชลยศึก
สรุปผลจากการรบไทยเสียทหาร 3 นาย บาดเจ็บ 5 นาย ส่วนฝรั่งเศสเสียชีวิต 110 นาย บาดเจ็บ 250 นาย สุญหาย 58 นาย ถูกจับ 21 นาย ซึ่งไทยสามารถยึดธงชัยเฉลิมพลประดับเหรียญกล้าหาญครัวซ์เดอร์แกร์ไว้ได้ ดังภาพครับ
ขอบคุณเครดิตบทความ http://oknation.nationtv.tv/blog/kingkaoz/2007/08/28/entry-6
ขอบคุณเครดิตภาพ http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/02/K4126698/K4126698.html
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น