| |
ปีนี้มีทหารเวียดนามอย่างน้อย 41 คน ได้กลับดินแดนบ้านเกิด หลังจากสงครามในประเทศนี้ยุติลงไป 40 ปี แต่ก็ยังมีอีกจำนวนนับพันๆ คนที่ยังไม่มีโอกาสได้กลับดินแห่งมาตุภูมิ และ การค้นหายังจะดำเนินต่อไป ในฤดูแล้งปี 2559-2560 นี้ ขณะเดียวกันการค้นหาศพทหารเวียดนาม ได้คืบเข้ามาในดินแดนไทย ในกรอบความร่วมมือระหว่างกระทรวงกลาโหมสองประเทศ
ล่าสุดทางการนครเวียงจันทน์ กับทางการ จ.ห่าตี๋ง ของเวียดนาม ได้ร่วมกันทำพิธีทางศาสนาและ ส่งอัฐิของ "ทหารอาสา" กับ "ผู้เชี่ยวชาญ" ชาวเวียดนามจำนวน 3 ชุดกลับประเทศ ทั้งหมดเสียชวิตจากการสู้รบในดินแดนลาวเมื่อครั้งสงคราม เจ้าหน้าที่ของสองฝ่าย ขุดขึ้นมาจากแหล่งฝังศพ ในเขตรอบนอกนครเวียงจันทน์ ในกรอบความร่วมมือระหว่างสองประเทศ
ทั้ง 3 ชุดเป็นหนึ่งในบรรดาอัฐิของทหารเวียดนามกว่า 20,000 คน ที่ ได้กลับจากลาว ในช่วงกว่า 20 ปีมานี้
สงครามในอินโดจีนยุติลงไปเมื่อปี 2518 แต่การปฏิบัติหน้าที่ของทหารเวียดนามในดินแดนลาว ยังคงดำเนินต่อมาอีกไม่ต่ำกว่า 10 ปี ปัจจุบันเชื่อว่ายังมี "ทหารอาสา" และ "ผู้เชี่ยวชาญ" ชาวเวียดนาม ยังไม่ได้จากลาวอีกนับพันๆ คน
พิธีจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค.2559 นายสีหุน สิดทิลือไซ รองเจ้าครองนครเวียงจันทน์ กับ นายดั่งก๊วกวีง (Dang Quoc Vinh) รองประธานคณะกรรมการประชาชน จ.ห่าตี๋ง (Ha Tinh) ในภาคกลางตอนบน ที่มีพรมแดนติดกับลาว มีคณะเจ้าหน้าที่ และ นักวิชาการ ทั้งสองฝ่ายเข้าร่วม เป็นจำนวนมาก หนังสือพิมพ์ "กองทัพประชาชน" ของกระทรวงป้องกันประเทศลาว รายงานในสัปดาห์นี้่
การปฏิบัติงานในช่วงหน้าแล้งปี 2558-2559 ที่ผ่านมา สองฝ่ายได้ลงเก็บข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งฝังศพทหารเวียดนาม ในพื้นที่จริง ในท้องที่ 59 หมู่บ้าน ใน 7 เมือง (อำเภอ) รวบรวมข้อมูลจากสถานที่จริงได้จำนวน 35 จุด และ ลงขุดค้นจริงในเขตเมืองไซทานีจำนวน 5 จุด และ พบอัฐิจำนวน 3 ชุด
สองฝ่ายได้จัดพิธีวางพวงมาลาสักการะดวงวิญญาณผู้เสียชีวิต โดยมี 17 คณะเข้าร่วมในพิธี "ที่ดำเนินไปภายใต้บรรยากาศอันเคร่งขรึม และ อาลัยอาวรณ์อย่างสุดซึ้ง" และ ในเช้าวันที่ 4 พ.ค. ก็ได้จัดพิธีส่งอัฐิทหารกับผู้เชี่ยวชาญเวียดนามกลับประเทศ อย่างสมเกียรติ มีเจ้าหน้าที่ พนักงาน นักรบและขบวนของน้องน้อยเยาวชน เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง หนังสือพิมพ์ซึ่งเป็นปากเสียงของกองทัพประชาชนกล่าว
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ฉบับเดียวกันนี้ เมื่อวันที่ 11 เม.ย. ทางการแขวงอุดมไซ กับกองบัญชาการทหารเขต 2 เวียดนาม ได้จัดพิธีส่งมอบอัฐิทหารอาสาสมัครกับผู้เชี่ยวชาญเวียดนามคล้ายกันนี้รวม 38 ชุด และส่งกลับมาตุภูมิอย่างสมเกียรติ
อัฐิทั้ง 38 ชุด ได้จากการค้นหาในช่วงฤดูแล้ง 2558-2559 และ ทั้งหมดเป็นทหารกับผู้เชี่ยวชาญเวียดนาม ที่เสียชีวิตจากการสู้รบ ในสงครามเพื่อเอกราช ในพื้นที่ 6 แขวงภาคเหนือของลาว
ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน รวม 22 ปี คณะปฏิบัติงานร่วมลาว-เวียดนาม ขุดค้นหาอัฐิในบรรดาแขวงภาคเหนือ ได้ทั้งหมด 1,604 ชุด ในนั้นสามารถระบุชื่อผู้เสียชีวิตได้เพียง 103 กรณี อัฐิที่ขุดค้นได้ทั้ง 38 ชุดล่าสุด สามารถระบุชื่อ ที่อยู่และถิ่นกำเนิดได้จำนวน 11 ชุด ทั้งหมดได้ส่งกลับบ้านเกิด เพื่อให้บิดามารดา ญาติพี่น้อง ดำเนินการตามประเพณีต่อไป
ทั้งหมดเป็นผลพวงจากสงครามในดินแดนลาว และ ทั่วอนุภูมิภาค ที่มีสงครามยืดเยื้อเป็นเวลานานหลายสิบปี ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
| |
และในที่สุดฝ่ายเขมรแดง ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์สายจีน ก็สามารถยึดอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 17 เม.ย.2518 ต่อมาวันที่ 30 เม.ย. ฝ่ายคอมมิวนิสต์เวียดนามเหนือและเวียดกงในภาคใต้ ซึ่งเป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ก็เข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้สำเร็จ แต่สำหรับคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว ยังต้องทำสงครามยึดอำนาจต่อมา จนถึงต้นเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน
ทหารเวียดนามนับหมื่นๆ คนถูกส่งเข้าไปสู้รบในดินแดนลาว มาตั้งแต่ครั้งสงครามเพื่อเอกราชจากฝรั่งเศส อีกหลายหมื่นคน ถูกส่งเข้าไปในช่วงสงครามต่อต้านสหรัฐ และ สงครามปลดปล่อยลาวจากรัฐบาลที่มีสหรัฐหนุนหลัง
เชื่อกันว่าทหารเวียดนามเสียชีวิตในเขตนครเวียงจันทน์มากที่สุด ในช่วงปลายสงคราม ก่อนที่ฝ่ายคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว จะสามารถเข้ายึดอำนาจได้อย่างสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 ธ.ค.2518 และ ประกาศการก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มาจนทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม หลัง "การปลดปล่อย" ลาว ทหารเวียดนามอีกหลายหมื่นคน ยังคงประจำอยู่ในประเทศนี้ต่อมาอีก จนถึงปี 2527-28 ทั้งนี้เพื่อช่วยป้องกัน สปป.ลาวที่ยังอ่อนด้อย จากรุกรานของ "กลุ่มปฏิกริยาจีน" ซึ่งหมายถึงจีนแผ่นดินใหญ่ คอมมิวนิสต์ต่างอุดมการณ์ และ "กลุ่มปฏิกิริยาขวาจัด" ในวงการกุมอำนาจไทย
นอกจากนั้น ทหารเวียดนามยังช่วยลาว ปราบปรามกองโจรติดอาวุธชาวเผ่าม้งของนายพลวังปาว ที่ยังหลงเหลืออยู่ ในดินแดนที่เป็นแขวงเชียงขวาง เวียงจันทน์ กับ แขวงไซสมบูนในปัจจุบัน
รายงานของสื่อทางการเมื่อหลายปีที่แล้วบ่งชี้ว่า ถึงแม้ "สงครามปลดปล่อยลาว" จะสิ้นสุดมาเป็นเวลาหลายปี การสู้รบกับกองโจรชาวม้งในเขตภูเบี้ย ยังคงดำเนินต่อมา อย่างน้อยจนถึงปี 2525
ไม่เพียงแต่ในดินแดนลาวเท่านั้น ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามยังต้องค้นหาศพทหารที่เสียชวิตในดินแดนกัมพูชาอีกด้วย
ตามข้อมูลของกองทัพประชาชนเวียดนาม ในช่วง 10 ปีของการสู้รบในกัมพูชา (2522-2532) มีทหารเวียดนามเสียชีวิตในดินแดนกัมพูชากว่า 50,000 คน ในนั้นกว่า 30,000 คนล้มตายด้วยมาลาเรียและโรคระบาดอื่นๆ อีกกว่า 20,000 คน เสียชีวิตจากการสู้รบ
ในสัปดาห์ต้นเดือน มี.ค.2559 พล.ท.เหวียนแถ่งกุง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการแห่งชาติ ในการค้นหาศพทหารเวียดนาม ในดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางเยือนไทย และเข้าเยี่ยมคำนับหารือกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
สองฝ่ายได้ตกลงร่วมมือค้นหาศพทหารเวียดนามที่เสียชีวิตตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ในช่วงสงครามกลางเมือง และ ค้นหาศพทหารไทย ที่เสียชีวิตในเวียดนาม ในช่วงปีแห่งสงครามเวียดนาม
เครดิตข่าวจาก http://www.manager.co.th/IndoChina/ViewNews.aspx?NewsID=9590000048143
คลิปสารคดีของทางประเทศลาวในระหว่างสงคราม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น