วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประวัติหลวงพ่อคูณ


( 16 พฤษภาคม) เป็นอีกหนึ่งวันที่คนไทยได้สูญเสียพระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่รักของทุกคน โดยวันนี้คณะแพทย์รพ.มหาราชนครราชสีมา ได้แถลงว่า ละสังขารแล้ว เมื่อเวลา 11.45 น. ที่ผ่านมา
พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ "หลวงพ่อคูณ" เจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะชั้นเทพ เมื่อวันที่ 12 เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 โดยมีราชทินนามตามสัญญาบัตรประกอบพัดยศสมณศักดิ์ว่า พระเทพวิทยาคม วิ. อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี 
ประวัติหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ
หลวงพ่อคูณ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ในครอบครัวของชาวไร่ชาวนาที่อยู่ห่างไกลความเจริญ บิดาชื่อ นายบุญ ฉัตรพลกรัง มารดาชื่อ นางทองขาว ฉัตรพลกรัง มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 3 คน คือ 
1. หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ 
2. นางคำมั่น แจ้งแสงใส 
3. นางทองหล่อ เพ็ญจันทร์ 

มารดาคือ นางทองขาว เล่าให้เพื่อนบ้านฟังว่า ก่อนตั้งครรภ์ กลางดึกของคืนวันหนึ่งเวลาประมาณตี 3 นางได้ฝันเห็นเทพองค์หนึ่ง มีกายเรืองแสงงดงาม ลอยลงมาจากสวรรค์ มาที่บ้านของนางและกล่าวว่า "เจ้าและสามีเป็นผู้มีศีลธรรม เมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ประกอบการงานอาชีพด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทั้งยังสร้างคุณงาม ความดีมาตลอดหลายชาติ เราขออำนวยพรให้เจ้า และครอบครัวมีแต่ความสุขสวัสดิ์ตลอดไป" 

และเทพองค์นั้นยังได้มอบดวงแก้วใสสะอาดสุกว่างให้แก่นางด้วย "ดวงมณีนี้ เจ้าจงรับไปและรักษาให้ดีต่อไปภายหน้า จะได้เป็นพระพุทธสาวกหน่อเนื้อพระชินวร เพื่อสืบพระพุทธศาสนา เป็นเนื้อนาบุญ ที่พึ่งของสัตว์โลกทั้งปวง"

การศึกษา หลวงพ่อคูณ
บิดามารดาของหลวงพ่อคูณ ได้เสียชีวิตลงในขณะที่ลูกทั้ง ๓ คน ยังเป็นเด็ก หลวงพ่อคูณกับน้อง ๆ จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว สมัยที่หลวงพ่อคูณอยู่ในวัยเยาว์ ๖-๗ ขวบ ได้เข้าเรียนหนังสือ กับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม ที่วัดบ้านไร่ สถานการศึกษาแห่งเดียวในหมู่บ้าน มิได้มีโรงเรียนทำการสอนเช่นในสมัยปัจจุบัน นอกจากเรียนภาษาไทยและขอมแล้ว พระอาจารย์ทั้ง ๓ ยังมีเมตตาอบรมสั่งสอนวิชา คาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่าง ๆ ให้แก่หลวงพ่อคูณด้วย นับว่าหลวงพ่อคูณรู้วิชาไสยศาสตร์มาแต่เยาว์วัย
หลวงพ่อคูณอุปสมบท
หลวงพ่อคูณอุปสมบท เมื่ออายุได้ 21 ปี ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๔๘๗ (หนังสือบางแห่งว่า ปี ๒๔๘๖) ตรงกับวันศุกร์ เดือน 6 ปีวอก โดยพระครูวิจารย์ดีกิจ อดีตเจ้าคณะอำเภอด่านขุนทด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระกรรมวาจาจารย์ คือพระอาจารย์สุข วัดโคกรักษ์ หลวงพ่อคูณได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ 

หลังจากที่หลวงพ่อคูณอุปสมบทเป็นพระภิกษุเรียบร้อยแล้ว ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ต.สำนักตะคร้อ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา (บางตำรากล่าวว่าเมื่อบรรพชาแล้วได้เล่าเรียนกับหลวงพ่อคง ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดถนนหักใหญ่ก่อน แล้ว หลวงพ่อคงจึงนำไปฝากกับหลวงพ่อแดง) หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ อย่างเคร่งครัด และทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คนและลูกศิษย์เป็นอย่างมาก
บุคคลทั่วไปหากมิได้สัมผัสตัวตนที่แท้จริงของหลวงพ่อคูณ มักจะมีความเข้าใจว่า หลวงพ่อคูณเป็นพระที่แกร่งกล้าอาคม แต่หากได้พบและได้สนทนาธรรม จะทราบทันทีว่า ท่านคือ "ปราชญ์แห่งที่ราบสูง" หลวงพ่อคูณได้สนทนาธรรมกับหลาย ๆ คน ต่างกรรมต่างวาระแสดงให้เห็นความเป็นปราชญ์ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ทีท่าตรงไปตรงมาพูดจามึงกู

แต่ภายในจิตวิญญาณของหลวงพ่อคูณท่านเป็นพระที่เป็นพระจริง ๆ คือมีจิตเมตตาเป็นที่ตั้ง แม้ในยามที่วัดบ้านไร่มีปัญหาหรือมีความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างลูกศิษย์ หลวงพ่อคูณท่านได้ตัดสินใจเดินจากวัดบ้านไร่ไปอย่างเงียบ ๆ พร้อมทั้งปรัญชาที่ว่า "เป็นธรรมดา เปรียบเสมือนต้นไม้หากมีลูกไม้ ย่อมจะเป็นที่จิกกินของสัตว์หรือนกแม้กระทั่งคน หากแม้นเมื่อหมดลูกหมดผล ก็หมดการแก่งแย่ง แต่อีกไม่นานต้นไม้นั้นก็จะออกลูกออกผลมาให้ เป็นเช่นนี้เรื่อยไป" ง
สร้างวัตถุมงคล
หลวงพ่อคูณสร้างวัตถุมงคลมาตั้งแต่บวชแล้ว ๗ พรรษา โดยเริ่มทำวัตถุมงคล ซึ่งเป็นตะกรุดโทน ตะกรุดทองคำ เพื่อฝังที่ใต้ท้องแขน ณ วัดบ้านไร่ ราว พ.ศ.๒๔๙๓ "ใครขอ กูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน" เป็นคำกล่าวของท่าน เนื่องจากวัตถุมงคลของหลวงพ่อได้ชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ เมื่อมีผู้ถามว่า หลวงพ่อแจกให้กับคนไม่ดีเป็นโจรผู้ร้ายอย่างนี้หลวงพ่อไม่บาปหรือ"กูจะไปรู้หรือว่ามันเป็นใคร ถ้ามันเป็นโจร เมื่อมันได้รับประโยชน์จากของที่กูแจก มันคงคิดได้ว่า เป็นเพราะพระศาสนา มันจะได้เข้ามาสนใจปฏิบัติธรรม...." "ถ้ามีใจอยู่กับ "พุทโธ" ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปไหน นั่นหมายความว่า ใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง... ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก"

ท่านั่งยอง
หลวงพ่อให้เหตุผลว่า เป็นท่าที่สบายที่สุด อีกทั้งเป็นลักษณะของคนเตรียมพร้อมที่ลุกเดินไปไหนมาไหนได้ทันที จะหยิบจับอะไรก็ง่ายและสะดวกในการทำงาน
การบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ
หลวงพ่อคูณได้จัดสร้างโรงพยาบาลถึง 3 หลัง ตลอดจนโรงเรียน และอื่นๆ อีกมากมาย นอกจากนี้ ยังได้บริจาคเงินทองเพื่อช่วยเหลือสาธารณะสุขต่างๆ ทุกๆวัน แต่ละเดือนเป็นจำนวนหลายแสนบาท
วันนี้แม้ท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่คำสอนของท่านยังคงก้องอยู่ในหัวใจของคนไทยตลอดไป
ขอบคุณเครดิต http://news.sanook.com/1796675/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น